Landscape view

เราเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มักมีการพูดถึงอนาคตและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีระดับพลิกผัน(Disruptive) ที่พลิกชีวิตผู้คนและการกังวลถึงโลกอนาคตมากกว่าครั้งไหนๆ ในประวัติศาสตร์

การล่มสลายของสื่อกระแสหลักด้วยการแทนที่ของสื่อดิจิทัล การล้มหายตายจากของบรรดายักษ์ค้าปลีกจากการมีช่องทางออนไลน์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีพลิกผัน ในเวลาเดียวหลายเรื่องที่เคยมีอยู่แต่ในนิยายวิทยาศาสตร์กำลังกลายเป็นความจริง

...ปัจจุบันในท้องถนนของประเทศสหรัฐอเมริกา มีรถยนต์ไร้คนขับวิ่งอยู่ถึง 10% ขณะที่ในฮ่องกงทุกวันนี้มีบริษัทที่ใช้สมองกลมาร่วมเป็นกรรมการบริหารบริษัทแล้ว

เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่หวนกลับ งานทุกงานในโลกกำลังเปลี่ยน หลายงานกำลังหายไปและหลายงานกำลังจะเข้ามาแทนที่ วิถีชีวิต วิธีคิด วิธีทำงาน และวิธีบริหารจัดการในโลกกำลังถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่

นี่คือยุคสมัยที่น่าตื่นเต้นที่สุด ของการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากของเทคโนโลยี ความเร็วและขอบเขตความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

มองไปในอนาคตที่การปฏิวัติเทคโนโลยีและโลกร้อนกำลังไล่ล่า

คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลทางบวกกับมนุษย์ และเราจะเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีที่พลิกผันซึ่งจะมีผลต่อวิถีชีวิตในอนาคตทั้งหมด รวมไปถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองที่เราเคยรู้จัก

“โลกในอีก 30 ปีข้างหน้ามันไม่นานเลย เมื่อผมอายุเท่าๆ กับพวกคุณเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในเวลารวดเร็ว ย้อนเวลากลับไปช่วงนั้น เป็นเวลาที่เราพึ่งจะมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใช้ เพิ่งมีคอมพิวเตอร์ แลพท็อป แล้วมาถึงปัจจุบัน สมาร์ทโฟนก็กลายมาเป็นของที่ใช้กันทั่วไปอย่างแพร่หลาย นั่นทำให้เรามองกลับไปแล้วเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเราอย่างไร“ อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวตอนหนึ่งกับนักศึกษาผู้เข้าร่วมแข่งขันใน เวที Shell Imagine the Future Thailand 2019 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ สำนักงานใหญ่ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

เวทีนี้เป็นการแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์อนาคต ที่เชลล์ จัดขึ้นทั่วโลกเพื่อสร้างให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการมองไปข้างหน้าและมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตการเติบโตของเมืองและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพราะสำหรับเชลล์เมืองก็เหมือนมนุษย์ การเติบโตของเมืองต้องการอาหาร น้ำ พลังงาน แตกต่างกันไปตามขนาด เทคโนโลยี จำนวนประชากรและวิธีในการบริหารจัดการเมือง การคาดการณ์เมืองในอนาคตได้อย่างแม่นยำและรอบด้านจะยิ่งทำให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

Person giving speech

Shell Scenarios มองโลกอนาคต ด้วยวิธีการมองโลกที่แตกต่างออกไป

นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 เชลล์ เป็นบริษัทที่เป็นผู้บุกเบิกในการนำแบบจำลองสถานการณ์หรือที่เรียกว่า Shell Scenarios มาใช้ในการคาดการณ์วิสัยทัศน์และคาดการณ์ความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์ คือ การตั้งคำถาม “What if…” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…” ซึ่งช่วยให้เรามองไปได้ไกลและเข้าใจถึงโอกาสและความไม่แน่นอนทั้งหลายในอนาคตข้างหน้า

หัวใจสำคัญของเวที Imagine the Future จึงเป็นความมุ่งหวังที่จะทำให้เยาวชนได้มีเครื่องมือในการมองอนาคตแบบรอบด้านและใช้แบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์หรือ Shell Scenarios เพื่อที่จะสามารถมองถึงความเป็นไปได้ที่มีโอกาสเกิดขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเมือง สังคม และการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี

บนหลักคิดที่ว่าเมื่อเราจินตนาการไปให้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น บนความเป็นไปได้ของโอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงอย่างรอบด้าน จะทำให้เรารู้ว่าเราจะเดินหน้าไปสู่อนาคตที่เราอยากเห็นอย่างไร โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่จะต้องเตรียมพร้อมจะรับมือ

“เจน” ไพลิน สันติชัยเวคิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันตัวแทนจากทีม Time Imachine กล่าวว่า “การเรียนรู้แบบจำลองสถานการณ์ Shell Scenarios ทำให้เรามีมุมมองที่แตกต่างไป เพราะปกติเวลาเรามองสถานการณ์เราก็จะเลือกมองระหว่างสถานการณ์ที่ดีที่สุดกับแย่ที่สุด แต่ใน Scenarios ทำให้เราต้องมองสถานการณ์ ในแบบที่ดีและแย่ทั้ง 2 สถานการณ์ในแบบเท่าๆ กัน และที่จะมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 สถานการณ์ ซึ่งมันเป็นการสอนวิธีคิดแบบใหม่ สวนทางกับตรรกะปกติ และความคุ้นชินของมนุษย์ สิ่งนี้จึงเปิดมุมมองและสอนให้เรามองโอกาสความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดในชีวิตด้านอื่นๆ ของเราด้วย”

เมืองและการใช้พลังงาน กับอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า

ในเวที Imagine the Future Thailand 2019 ได้กำหนดโจทย์ในการแข่งขันให้นักศึกษา พยายามสร้างแบบจำลองสถานการณ์ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองในเอเชียแปซิฟิคและตะวันออกกลางที่จะใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในปี ค.ศ. 2050 โดยนักศึกษาจะต้องจินตนาการ ศึกษาค้นคว้า และคิดให้ครอบคลุมการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจ ของผู้คนในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

“ฟลุค” กรัณย์พล ส่งเกียรติศรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้แทนของทีมBBA21 ทีมที่ชนะเลิศระดับประเทศ และเป็นตัวแทนทีมไทยในเวทีการแข่งขันนานาชาติระดับภูมิภาคใน Shell Imagine the Future Asia 2019 เล่าว่า จากโจทย์การแข่งขันเรามองอนาคตแตกต่างจากทีมอื่น ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงอนาคตคนมักจะคิดว่า เทคโนโลยีมันจะไปไกลขึ้น ทีมเราก็คิดอย่างนั้น แต่ในมุมมองที่แตกต่างเราจะมองว่า เทคโนโลยีมันไปไกลแน่ๆ อยู่แล้ว แต่ที่สำคัญกว่าขึ้นอยู่กับที่คนจะใช้ เพราะทิศทางของโลกนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมของคน

แบบจำลองสถานการณ์ในปี ค.ศ. 2050 ของเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและตะวันออกกลางในมุมของทีม BBA21 จึงใช้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาโดยแบบจำลองสถานการณ์ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิด 2 แกน คือ การกระจุกตัวของความรู้ (Centralizing of Knowledge) และการกระจายตัวของความรู้ (Decentralizing of knowledge) โดยเชื่อว่าบนฐานความคิดดังกล่าว ความรู้จะทำให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพรวมไปถึงการหางานทำ และรายได้ที่ดีในอนาคต นั่นหมายถึงว่า ยิ่งคนมีความรู้พวกเขามีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้ก็จะขาดโอกาส

โดยแบบจำลองสถานการณ์ของเมืองในอนาคต สถานการณ์แรกคือ Homodeus ที่หมายถึงเทพเจ้า มีคนเข้าถึงการศึกษาอย่างจำกัด ในสถานการณ์นี้ เมืองอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น คนอาจจะตกงาน รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการทางภาษี เก็บเงินเครื่องจักรหุ่นยนต์ และนำเงินมาอุดหนุนคนที่ตกงาน ขณะที่สถานการณ์ที่สอง Homosapien หมายถึงมนุษย์ ที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม โดยเข้าถึงความรู้ผ่านออนไลน์ โรงเรียนเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้การรับรอง ลดต้นทุนการศึกษาให้คนในสังคมและทำให้คนมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น โดยมุมมองของทีมเชื่อว่าในทั้ง 2 สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น การผลิตพลังงานสะอาดจะมากขึ้นและกระจายตัว โดยครัวเรือนเข้ามาเป็นผู้ผลิตมากขึ้น แต่ทั้ง 2 สถานการณ์จะแตกต่างกันในเชิงบทบาทการกำกับดูแลโดยรัฐ ซึ่งแบบแรกอำนาจหลักจะยังอยู่ที่รัฐ เช่นปัจจุบัน

พลังงานจุดสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ประเด็นพลังงานสอดคล้องกับมุมมองของอีกหลายทีมที่เข้ารอบ 6 ทีมสุดท้าย “พี” ธนกร ประยูรกิตติกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์การสื่อสารและสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าแข่งขันจากทีม Dream ชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษา ค้นคว้า และสร้างแบบจำลองสถานการณ์ในอนาคตพลังงานของประเทศไทยแนวโน้มอนาคตจะเกิด “Prosumer” และ “พลังงานทางเลือก” โดยมีระบบ “Smart Grid” เป็นคำตอบ โดย “Prosumer” มีความหมายว่า ผู้บริโภคพลังงาน (Consumer) จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตพลังงาน (Producer) ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ทั้งแนวทางที่รัฐบาลรวมศูนย์การจัดการพลังงาน รวมไปถึงการกระจายอำนาจ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น บล็อกเชน (blockchain) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ฯลฯ

สำหรับประเด็นพลังงานสะอาดในอนาคตที่จะมากขึ้นในปีค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์หลักที่ใช้ถามผู้แข่งขัน “อัษฎา” ให้ความเห็นว่า พลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่เชลล์ให้ความสำคัญมาก และเป็นเรื่องจำเป็น เพราะพลังงานสะอาดจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนออกมาน้อยกว่า อย่างไรก็ตามหากต้องประเมินถึงพลังงานทางเลือกต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ในอนาคตของแต่ละเมืองมีความจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้าน

เขายกตัวอย่างเกี่ยวกับ “อนาคตพลังงาน” แบบง่ายๆ ว่า ถ้าเราพูดถึงรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ หากมองในอนาคตต่อไป เราใช้พลังงานไฟฟ้า นำแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อนขนส่ง ถามว่าดีต่อประเทศไทยหรือไม่ ก็อาจดีในระดับหนึ่งแต่มันก็มีขั้นตอนการผลิตไฟฟ้า ที่ต้องดูแหล่งที่มาของไฟฟ้า ที่ไม่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงที่เป็นฟอสซิลหรือถ่านหินซึ่งยังคงสร้างมลภาวะทางอ้อมได้อยู่

ในขณะที่อนาคต มีโอกาสที่เอทานอล 100% จะสามารถเติมรถไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าว เชลล์ได้มีการพัฒนาร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์ ในการสร้างพลังงงานทางเลือกแบบใหม่ๆ ซึ่งจะตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ทั้งหมดแล้ว ควรมองให้เห็นถึง Net Carbon Footprint สำหรับอนาคตของมนุษย์

นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ในการออกแบบอนาคต เรามีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางเสมอ

ล่าสุดจากผลการตัดสินการแข่งขัน Imagine the Future เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาที่สำนักงานใหญ่ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม BBA21 ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันในเวทีระดับภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคม 2562 ขณะที่ทีม New Era ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

ในฐานะผู้เข้าแข่งขัน 1 ใน 6 ทีมสุดท้าย“ฟ้า” สสินา ตั้งพิทยาเวทย์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าแข่งขันจากทีม New Era สะท้อนถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ในเจเนเรชั่นที่เราโตมา ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นและเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้”

หากมองไปในอนาคตข้างหน้า มี 3 ปัจจัยสำคัญที่จะรองรับการเติบโตของเมืองและการมีพลังงานสะอาดที่มากขึ้นในปี ค.ศ.2050 ได้แก่ 1.พลังงาน-ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานไฮโดรคาร์บอนไปจนถึงพลังงานคาร์บอนต่ำ 2.ดิจิทัล- การเชื่อมโยงและความพลิกผันของเทคโนโลยีดิจิทัล 3.สังคม- แรงกดดันระหว่างกลุ่มทางความคิดในสังคมที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกัน

“ทุกวันนี้ เราใช้ปัจจุบันร่วมกับคนรุ่นใหม่ แต่อนาคตเป็นของพวกเขา ที่ต้องให้โอกาสพวกเขาออกแบบเอง ความรู้ความสามารถที่คนรุ่นใหม่มีในเรื่องโซเชียล มีเดีย ดิจิทัล แพลตฟอร์ม และการมองประเด็นหลายๆ เรื่องจากมุมของเขา จะทำให้พวกเขามีส่วนร่วมสร้างอนาคต ที่ไม่เฉพาะได้รับการเผยแพร่ระดับประเทศ แต่ความคิดเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ไปในระดับโลกด้วย” อัษฎากล่าวถึงความตั้งใจของเชลล์ ประเทศไทย ในท้ายที่สุด