นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการบริษัทเชลล์แห่ง

ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เชลล์อีโค-มาราธอน จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชน วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ช่วยกันคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนำแนวคิดมาปฏิบัติให้เป็นจริง เพื่อจะตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปีนี้เชื้อเพลิงที่แต่ละทีมเข้าแข่งขันมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน เอทานอล ไฮเดรเจน พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งความหลากหลายของพลังงาน นวัตกรรมเทคโนโลยี และการตระหนักถึงการลดภาวะโลกร้อน จะเป็นปัจจัยที่สำคัญของพลังงานในโลกอนาคตที่จะตอบสนองความต้องการของยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น

นายดนัย คงอ่อน ทีม Auto Max จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง กล่าวว่า เชลล์อีโค-มาราธอน ทำให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพในการคิดค้นรถประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง พวกเราได้ประสบการณ์และวินัยในการทำงานเป็นทีม รวมทั้งยังสามารถนำประสบการณ์จากการแข่งขันส่งต่อให้รุ่นน้อง เพื่อพัฒนาแนวคิดและเทคนิคใหม่ๆในการประดิษฐ์รถประหยัดพลังงานรุ่นต่อๆไป

นายชานนทร์ จิวัธยากูล ทีม INNO-GEN KMITL V.1 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แสดงความเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้นำความรู้ที่เรียนมา ออกแบบ ประดิษฐ์และสร้างยานยนต์ขึ้นมาด้วยความสามารถของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการใช้พลังงานให้น้อยที่สุดแต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การแข่งขันนี้เป็นเวทีระดับสากลที่ให้เยาวชนไทยมีโอกาสแสดงความสามารถ เป้าหมายของทีม คือเป็นผู้ชนะในการแข่งขันประเภทใดประเภทหนึ่ง และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และสถาบันการศึกษา

นายอนุชิต กลับประสิทธิ์ ทีม Donmuang Technical College-Aอาจารย์ที่ปรึกษาของวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ให้เหตุผลถึงการเลือกใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเป็นพลังงานไฟฟ้าว่า ในปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้จัดการแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอนเปิดโอกาสให้ใช้พลังงานไฟฟ้า ทีมของเราจึงสนใจ เพราะสถาบันเราจะได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน

ด้านนายฉัตรมงคล ฉายากุล ทีมP.K. EVOLUTION จากโรงเรียนปากเกร็ด กล่าวว่าการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับประโยชน์จากการนำวิชาฟิสิกส์ เคมี และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เข้าใจในทฤษฎีและภาคปฏิบัติมากขึ้น จนสามารถประดิษฐ์รถพลังงานสะอาดที่ช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ ที่สำคัญขอขอบคุณ บริษัทเชลล์ ที่สนับสนุนโครงการดีๆให้พวกเราได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ

การแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอน เอเชีย 2011 ณ ประเทศมาเลเซีย ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ของภูมิภาคเอเชีย มีทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมแข่งขัน 17 ทีม จากทีมทั้งหมด 106 ทีม จาก 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศไทย มีจำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันสูงสุดเป็นลำดับที่ 3 รองจากประเทศมาเลเซียที่ส่งทีมเข้าแข่งขัน 23 ทีม และปากีสถาน 18 ทีม

รายชื่อทีมที่เข้าร่วมแข่งขันในปี 2554

  1. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร-ลาดกระบัง (ส่งรถเข้าแข่งขัน 2 คัน)
  2. โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ช่างกล ขส.ทบ.
  3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ส่งรถเข้าแข่งขันประเภท Urban Concept เพียงทีมเดียว)
  4. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  5. วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง (ส่งรถเข้าแข่งขัน 2 คัน)
  6. โรงเรียนช่างฝีมือปัญจวิทยา (ส่งรถเข้าแข่งขัน 2 คัน)
  7. โรงเรียนปากเกร็ด
  8. โรงเรียนเทคนิคพณิชยการอยุธยา
  9. วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง (ส่งรถเข้าแข่งขัน 2 คัน)
  10. มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง (ส่งรถเข้าแข่งขัน 2 คัน)
  11. วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร
  12. โรงเรียนบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีพิษณุโลก

ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม:

เชลล์อีโค-มาราธอน การแข่งขันที่มอบรางวัลให้แก่ยานพาหนะที่สามารถวิ่งได้ไกลที่สุด โดยใช้เชื้อเพลิง น้อยที่สุดเริ่มจัดการแข่งขันในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 และเริ่มจัดการแข่งขันในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และในปี 2554 นี้ทวีปเอเชียได้รับเกียรติจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่สอง ณ สนามรถแข่งนานาชาติเซปัง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2554

การแข่งขัน เชลล์ อีโค มาราธอน 2011 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ รุ่นต้นแบบ (Prototype Category) ซึ่งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการออกแบบพื้นฐานรถที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกประเภท Urban Concept เป็นการออกแบบรถโดยคำนึงการใช้งานจริงบนท้องถนน ซึ่งรถในรุ่นนี้จะเป็นรถที่ปรากฏให้เห็นบนท้องถนนทั่วไป การแข่งขันทั้ง 2 ประเภท ผู้เข้าแข่งขันจะเลือกใช้เชื้อเพลิงที่ได้จากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ดีเซล เบนซิน หรือ พลังงานทางเลือก เช่น ไฮโดรเจน เอทานอล โซลาร์ เซลล์ หรือ พลังงานจากไฟฟ้าก็ได้