ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเดือนธันวาคม 2561 ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ในเอเชีย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 20,000 คน หรือเสียชีวิต 60 คนต่อวัน มีอัตราผู้พิการ 4-5 พันคนต่อปี อัตราการตายประมาณ 36.2 คนต่อประชากรแสนคน เป็นความสูญเสีย 2 แสนล้านบาทต่อปี ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยทางถนน พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เกือบ 90% มาจากพฤติกรรมของคนในการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย และสำหรับประเทศไทย มีการศึกษาพบว่า 3 ปัจจัยหลักของอุบัติเหตุทางถนนมาจาก 1) ผู้ขับขี่และพฤติกรรมในการใช้รถใช้ถนน 2) โครงสร้าง คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม 3) ความเชื่อ ค่านิยม และการบังคับใช้กฎหมาย*

“เชลล์รณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างสงกรานต์และวันหยุดปีใหม่ ที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น เมื่อเราทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง บวกกับการศึกษาทดลองของเชลล์ในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เรากลับมามองว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะทำให้การแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่ มีมาตรฐานและมาตรการที่จะส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายในการลดอันตรายและการลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตได้อย่างไรเพราะเชลล์อยากให้ทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยในทุกวัน” อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงการทบทวนบทเรียนของเชลล์ ประเทศไทย อันเป็นความพยายามยกระดับและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนให้ได้อย่างยั่งยืน

เชลล์ได้ปรับแนวทางการดำเนินงานเรื่อง “ความปลอดภัยทางถนน” (Road Safety) เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาและปีนี้ถือเป็นปีที่สองของโครงการดังกล่าว เชลล์ดำเนินโครงการ “คุณปลอดภัย ทุกคนปลอดภัย ร่วมใช้ถนนอย่างรับผิดชอบ” (You are Safe, All Safe) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน โดยมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี คือ ระหว่างปี 2561-2563

แผนการดังกล่าว มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา “ความปลอดภัยทางถนน” ในเชิงระบบ ครอบคลุมการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) 2)การให้ความรู้เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย (Education) 3)การพัฒนาทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยให้พนักงานในห่วงโซ่อุปทาน (Defensive Driving) 4) การสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมาย (Law of Enforcement) และ 5)การส่งเสริมสภาพถนนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น (Infrastructure) โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และถือเป็นการทำงานขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องบนความร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศและระดับโลก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านความปลอดภัยทางถนน Global Road Safety Partnership เป็นต้น

“ความปลอดภัย” เริ่มที่ตัวเรา และทุกวันในธุรกิจของเรา

ในปีที่ผ่านมา มีการริเริ่มโครงการและสานต่องานหลายด้านเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยทางถนน ไม่ว่าจะเป็น ภายในองค์กรของเชลล์ ที่มีการพัฒนาทักษะบุคลากร ร่วมด้วยเครื่องจำลองการขับขี่สำหรับพนักงานขับรถตลอดห่วงโซ่ธุรกิจของเชลล์ ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือสถานการณ์เฉพาะหน้าบางอย่างบนท้องถนนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยควบคู่กันด้วย

การจัดระบบบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนและการบริหารจัดการผู้รับเหมาที่มีประสิทธิภาพของเชลล์มีมาตรฐานที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ การจัดอบรมเชิงป้องกันและการฝึกทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถในห่วงโซ่อุปทานที่มีเป้าหมาย 5,000 คน ภายใน 3 ปี 

ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยางมะตอยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของเชลล์ก็มีแนวคิดคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นกัน อาทิ สามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น เพิ่มคุณสมบัติการยึดเกาะ เพื่อทำให้โครงสร้างและสภาพถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมให้สถานีบริการน้ำมันเป็นจุดบริการที่รองรับการพักรถและหยุดการขับขี่ต่อเนื่องยาวนาน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ และความพยายามในการลดการใช้รถขนส่ง อาทิเช่น สรรหาวิธีการใหม่ๆ ในการขนส่งผลิตภัณฑ์ การขยายบริการขนส่งน้ำมันทางท่อมากขึ้น เป็นต้น

Shell Songkran road safety

ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เชลล์ยังมีการรณรงค์เรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัย ทุกสถานีบริการน้ำมันของเชลล์ เตรียมความพร้อมให้กับผู้ขับขี่ ทั้งในแง่ของ การเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง และในระหว่างการเดินทาง ที่สถานีบริการน้ำมันของเชลล์ มีจุดตรวจเช็ค ลมยาง พนักงานที่จะช่วยให้บริการตรวจความพร้อมสภาพรถระหว่างการเดินทาง ยังมีให้บริการช่วยเหลือบนท้องถนน 24 ชั่วโมงสำหรับสมาชิก เชลล์คลับสมาร์ท รวมไปถึงโปรโมชั่นต่างๆ ในร้านกาแฟเดลี่ คาเฟ่ และร้านค้าสะดวกซื้อ เชลล์ ซีเล็ค 

สร้าง Hearts & Minds เรื่องความปลอดภัย เริ่มจากความห่วงใย ไม่เพิกเฉยกับความอันตราย ปิดจุดเสี่ยง ตั้งแต่เด็ก

ในประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุพบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-29 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 1 ในการเสียชีวิตของเด็กไทย ข้อมูลจากใบมรณบัตรระบุว่า ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 2,510 ราย และมากถึงร้อยละ 80 เกิดจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ถ้าจะเปรียบเทียบนั่นหมายถึงว่ามีนักเรียนในโรงเรียน ขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนหายไปในแต่ละปี 

เชลล์ ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ จึงได้ดำเนินโครงการเพื่อการศึกษาเรื่องปัญหาและพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยในเด็กหลากหลายโครงการ เช่น โครงการ “Childvoice to Safety” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน การเดินทาง และการขับขี่ที่ร่วมกันลดอุบัติเหตุในระดับโรงเรียน 

“จากโครงการรณรงค์ความปลอดภัยในเด็ก เราได้เรียนรู้ว่า แม้แต่เด็กประถมก็มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมความปลอดภัยได้ เด็กสามารถมองเห็นในจุดที่เรามองไม่เห็น หลายครั้งที่ลูกสาวผมกลับมาเล่าให้ฟังว่ามีวิธีรับมือกับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้อย่างไรบ้าง เช่นเรื่องง่ายๆ อย่างการจับราวบันไดเสมอเมื่อขึ้น-ลงบันได การเตือนคุณปู่คุณย่าให้คาดเข็มขัดนิรภัยก่อนเดินทาง” 

We Power Road Safety Digital Creator

และล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา เชลล์ก็ได้ริเริ่มโครงการแข่งขันพัฒนาสื่อดิจิตอล “We Power Road Safety Digital Creator” โดยเปิดโอกาสให้ นักศึกษา นักพัฒนาซอฟแวร์ สตาร์ทอัพ ผู้ผลิตเกมส์ รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้ร่วมพัฒนารูปแบบงานสร้างสรรค์ผลงานที่จะให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล เพื่อยกระดับการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันและอนาคต 

“เป็นเรื่องลำบากใจเวลาที่เราต้องไปบอกภรรยาและลูกๆ ของพนักงานของเราว่า สามีและพ่อของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และนั่นเป็นเหตุผลที่ เชลล์กำหนด Goal Zero ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่ตายตัว ทำได้แล้วจบไป ไม่ใช่การบอกว่าจะไม่มีอุบัติเหตุอีก แต่เป็นการสร้างและส่งต่อวัฒนธรรมเพื่อให้ทุกคนมีความตื่นตัวและตระหนักว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหากเราประมาท แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้อย่างไร โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงในระดับที่จะเปลี่ยนชีวิตคนทั้งคนและอีกหลายๆ คนที่อยู่รอบตัวเขา เราต้องให้ความรู้และฝึกฝนเด็กจนพวกเขาสามารถบอกเราได้ว่าจุดไหนบ้างที่มีความเสี่ยง เมื่อเด็กบอกได้ว่าความเสี่ยงคืออะไร เดือดร้อนลำบากอย่างไรหากประสบอุบัติเหตุ พวกเขาจะลงมือปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อตัวเขาและคนรอบตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยน Mindset แบบนี้แหละ ยากที่สุด แต่ก็ส่งผลดีที่สุด” อัษฎากล่าวทิ้งท้าย 

และนั่นเป็นสิ่งที่เชลล์หวังว่าบทเรียนในการสร้างความปลอดภัยของเชลล์ จะเป็นหนึ่งในบทเรียนที่เราจะเรียนรู้ร่วมกันและส่งเสริมให้เกิด “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ขึ้นในสังคมไทย

*ที่มา: ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)

Shell bitumen tanket

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์
ผู้จัดการใหญ่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
โทรศัพท์: +662 – 262 7326