Student team powering progress together

ล่าสุดในการแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ Imagine the Future 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมเยาวชนไทยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน “Newtopia Future of Urban - นครแห่งอนาคต” สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างน่าภาคภูมิ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 12 ทีมจากทั่วทวีปเอเชีย และยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน การแข่งขันพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ Imagine the Future เป็นหนึ่งในกิจกรรมเด่นของเวทีเสวนา Powering Progress Together Forum ภายในงาน Shell Make the Future Singapore สุดยอดงานเทศกาลแห่งไอเดียและนวัตกรรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย เพื่อจุดประกายความคิด เตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานของโลก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งจากชาวสิงคโปร์และประเทศใกล้เคียง

Staff meeting at powering progress together

“เชลล์ เป็นผู้นำและผู้บุกเบิกการนำแบบจำลองสถานการณ์มาใช้พัฒนาวิสัยทัศน์และคาดการณ์ความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แบบจำลองสถานการณ์ของเชลล์นั้นคือ การตั้งคำถาม “what if” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า” ซึ่งช่วยให้เรามองไปได้ไกลและเข้าใจถึงโอกาสและความไม่แน่นอนทั้งหลายในอนาคตข้างหน้าได้อย่างรอบด้าน” ดร. มัลลิกา อิชวาราน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและที่ปรึกษาด้านพลังงานของเชลล์ กล่าวและเสริมว่า “ในปีนี้เชลล์ได้กำหนดโจทย์ให้ทีมนักศึกษาพยายามสร้างแบบจำลองสถานการณ์ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองในเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลางที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นใน พ.ศ. 2593 โดยนักศึกษาจะต้องคิดครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ทุกทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างสามารถนำเสนอผลงานได้น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง เราเห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตที่มีความน่าสนใจ และช่วยจุดประกายให้พวกเขาได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ปัญหาหรือรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานในอนาคตด้วย”

ผลงาน Newtopia Future of Urban – นครแห่งอนาคต ของนักศึกษาจากทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญเรื่องความหนาแน่นของประชากรในอนาคต โดยแบบจำลองแรกจะเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นน้อย มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และการมีพื้นที่สีเขียวมากจะช่วยผลักดันความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา มีเทคโนโลยีอันชาญฉลาด ท่ามกลางวิถีชีวิตที่สบายๆ ไม่เร่งรีบ ช่วยให้เมืองยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีเดิมไว้ได้ โดยเมืองเช่นว่านี้จะมีพื้นที่สำหรับ การเพาะปลูกขนาดใหญ่ แหล่งพลังงานหลักจะได้จากการแปรรูปของเสียไม่ว่าจะเป็นมูลสัตว์ ของเหลือจากการทำเกษตรกรรมหรือเศษอาหาร เพื่อนำมาทำก๊าซชีวภาพ ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ด้านที่อยู่อาศัยจะมีลักษณะเป็นทาวน์เฮ้าส์ที่แต่ละหลังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา มีการใช้ระบบแม่เหล็กไฟฟ้ากับถนนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ รถยนต์ใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียใน การขับเคลื่อน และใช้รสบัสไร้คนขับสำหรับการขนส่งสาธารณะ

ขณะที่สถานการณ์จำลองแบบที่สอง เป็นเมืองที่ผู้คนวุ่นวาย มีความหนาแน่นมาก เทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบการศึกษาที่ก้าวหน้า ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านข้อมูลและการลงทุนที่รวดเร็ว ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ในเมืองนี้จะเต็มไปด้วยที่พักอาศัยซึ่งเป็นตึกสูงทันสมัย พร้อมสิ่งอำนวย ความสะดวกครบครัน ประชากรมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก ใช้เคเบิลลอยฟ้าสำหรับการเดินทางระหว่างตึกสูง พลังงานหลักมาจากพลังงานคลื่นในทะเล ซึ่งจะไม่ทำลายความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

Shell Powering Progress Together

นางสาวอาทิตยา มะโนแสน นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตัวแทนจากทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและนำรางวัลกลับบ้าน ในการพัฒนาแบบจำลอง เรามองปัจจัยสามอย่าง คือ ประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ว่าจะส่งผลต่อลักษณะของเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้วใน พ.ศ. 2593 อย่างไร เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ทีมของเราได้รางวัลคือ การประยุกต์ใช้สถานการณ์แวดล้อมตัวเราทั้งที่เมืองเชียงใหม่ (เมืองภูมิลำเนาของนักศึกษาทีมนี้) และกรุงเทพฯ โดยจินตนาการว่าเราจะพัฒนาอะไรให้ดีที่สุด โดยใช้พื้นฐานจากสิ่งที่เมืองของเราเป็น”

ด้านนางสาวปาณัท แสนมหาชัย อีกหนึ่งตัวแทนจากทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การได้เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future 2018 ช่วยเปิดประสบการณ์ให้เราในเวทีระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนเก่งๆ จากหลายประเทศ รวมถึงได้ฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิ และถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่สุด สำหรับโมเดลที่พวกเราพัฒนาขึ้นนี้สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเพื่อใช้จริงได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างๆ และประชาชนทุกคน ที่ต้องทำความเข้าใจ สนับสนุน และร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีและแนวทางการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคต เชื่อว่าประเทศไทยในอนาคตจะมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแน่นอน”

สำหรับผลงานที่ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้คือ ทีม Yale-NUS College จากประเทศสิงคโปร์ เจ้าของผลงาน “A Binary World vs. A Dispersed Planet” โดยนำเสนอแบบจำลองสถานการณ์ วาดภาพอนาคตที่แตกต่างกันสองขั้ว สถานการณ์หนึ่งเป็นโลกแห่งการรวมศูนย์ โดยรัฐบาลและกิจการขนาดใหญ่ซึ่งมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้สามารถให้บริการที่สะดวกสบายตอบโจทย์ สถานการณ์ที่สองคือ การที่บุคคลมีอำนาจในการปกครองตนเอง เลือกทางเลือกได้เอง หรือแม้กระทั่งผลิตพลังงานเอง มีอิสระในการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์เฉพาะด้านในสังคมได้

ไม่ว่าในอนาคต โลกของเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่หากเรามีแผนรับมือที่เตรียมไว้แล้วอย่างดี รวมถึงประชากรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อม และมีวิสัยทัศน์ด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่ออนาคต โลกของเราทุกคนใบนี้จะดำรงอยู่ได้อย่างเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนแน่นอน

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

สุดารัตน์ พีตกานนท์
ผู้จัดการ

ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์
ผู้จัดการใหญ่
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
โทรศัพท์: +662 – 262 7839

เอบีเอ็ม

ธิตาวัลย์ จัตุรัสพันธ์

โทรศัพท์: +662 – 252 9871

อีเมล: Titawan.c@abm.co.th