นางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ประธานกรรมการ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตโลกจะเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ คือ 1.ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็วทั่วโลก  2.ความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งพลังงาน 3.ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานที่มากขึ้น ในฐานะที่เชลล์เป็นบริษัทพลังงานระดับโลก จึงสรรหาวิธีการ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการด้านพลังงานของโลกในรูปแบบที่ยั่งยืน และลดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม เชลล์อีโคมาราธอนเป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษาที่ท้าทายให้นักเรียน นักศึกษาออกแบบ และสร้างยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มาแข่งขันกับทีมอื่นๆ ว่ายานพาหนะของใครจะไป ได้ไกลที่สุด โดยใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เชลล์อีโค-มาราธอน ยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนช่วยกันคิด เรื่องการใช้พลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพและนำเสนอวิธี การแก้ปัญหาที่เป็นจริงได้

“เราเชื่อว่า การปลูกจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และบ่มเพาะความรู้เพื่อพัฒนา เทคโนโลยีในการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่ควรกระตุ้นให้เกิดขึ้นทั้งในระดับ ประเทศและในระดับโลก เยาวชนในวันนี้ คืออนาคตของโลกในวันข้างหน้า หากเยาวชนของไทย ได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในเรื่องของการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่ากับเยาวชน จากประเทศอื่นๆ เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศ การแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอน ซึ่งจะจัดขึ้น เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียปีหน้านี้ เราจึงหวังว่าจะมีทีมเยาวชนของไทยเข้าร่วมแข่งขันกันมาก” คุณพิศวรรณ กล่าว

ล่าสุดการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอนที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในเดือนพฤษภาคม ของปีนี้ มีทีมที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันถึง 202 ทีม จาก 29 ประเทศ โดยมีประเทศในแถบเอเชียถึง 5 ประเทศที่เข้าร่วม หนึ่งในนั้นคือ ทีมไทยเกอร์ (THAIGER) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัด พิษณุโลก เข้าร่วมแข่งขันในนามของทีมไทยเป็นปีแรก และสามารถนำรถวิ่งได้ไกลสุดถึง 1,050 กิโลเมตร โดยใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเทียบเท่าการใช้น้ำมันเพียงหนึ่งลิตร

ดร.สุขฤดี สุขใจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัย นเรศวรกล่าวว่า ทีมไทยเกอร์ได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการ เข้าร่วมแข่งขันเชลล์อีโค-มาราธอน ที่ยุโรปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสมาชิกในทีม ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาไทย และนักศึกษาต่างชาติ ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน ทั้งยังสามารถนำความรู้กลับมา พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือกของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รวมถึงการได้ประชาสัมพันธ์ สถาบัน และผสานร่วมมือทางด้านการวิจัยกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศเยอรมันต่อไป

สถิติล่าสุดของการจัดเชลล์อีโคมาราธอนปี 2552 ที่ประเทศเยอรมัน จากทีมเข้าแข่งขัน ทั้งหมด 202 ทีม ทีมจากประเทศฝรั่งเศสทำลายสถิติของตนเองที่เคยทำได้ในปี 2548  3,410 กม. มาในปีนี้สามารถนำยานพาหนะวิ่งได้ไกลสุดถึง 3,771 กิโลเมตร โดยใช้เชื้อเพลิงเทียบเท่าน้ำมัน เพียงหนึ่งลิตร ส่วนการแข่งขันที่ประเทศอเมริกาในปีนี้มีทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 44 ทีม ทีมผู้ชนะจากประเทศแคนาดาสามารถวิ่งได้ไกลสุด  1,172.2 กิโลเมตร โดยใช้เชื้อเพลิงเทียบเท่าน้ำมัน เพียงหนึ่งลิตร ในประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคต (Futuristic Prototypes) เช่นเดียวกัน

ข้อมูลประกอบ

เชลล์อีโค-มาราธอนเริ่มแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2528 ในปี 2550 เชลล์ อีโค-มาราธอน จัดเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี 2553 นี้เชลล์อีโค-มาราธอนจะจัด ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่สนามรถแข่งนานาชาติเซปัง ประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะหมุนเวียนไปจัดแข่งขันยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : www.shell.com/ecomarathon